เพลง ที่รัก ที่ มากกว่าคำว่า ที่รัก


เพลง ที่รัก
ขับร้องโดย : ชรินทร์ นันทนาคร
คำร้อง/ทำนอง : สุนทรียา ณ.เวียงกาญจน์ – สมาน กาญจนผลิน
บันทึกเสียงครั้งแรกปี พ.ศ. 2497

นานแล้วพี่หลงพะวงมิหน่าย นานแล้ว พี่หมายจะได้ภิรมย์
นานแล้วพี่พี่รักคอยจักชื่นชม นานแล้วรักเพียงลมลมตรมเช้าค่ำ

ที่รักน่ะรักแต่ใจมิกล้า ที่ช้าน่ะช้ามิกล้าเผยคำ
ที่คิดน่ะคิดกลัวอกจะช้ำ เอ่ยคำแล้วเจ้าจะทำช้ำใจ

อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้
พอรุ่งรางก็จางหายไป รู้แน่แก่ใจได้แต่ระทมชีวี

ที่รักน่ะรักเพราะเทพเสริมส่ง ที่หลงน่ะหลงเพราะเจ้าแสนดี
ที่หวงน่ะหวงเพราะสวยอย่างนี้ กลัวใครเขามาแย่งพี่ไปเอย

หลายๆท่านมักใช้คำเรียก แฟน คนรัก หรือภรรยา ว่า ” ที่รัก ” แต่ความหมายของเพลง ที่รัก แต่งคำร้องโดย อ.สุนทรียา นี้มิได้หมายความเช่นนั้นอย่างเดียว โดยเนื้อความรวมของเพลงยังหมายถึงสาเหตุ “ที่รัก” ด้วย
รูปลักษณ์โครงสร้างของเพลง เป็นลักษณะ กลอนแปด จำนวน 4 บท ที่มีสัมผัสนอกสัมผัสในพร้อมพรั่ง เรียกได้ว่าแค่อ่านเฉยๆไม่ต้องขับร้องก็ยังน่าฟัง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเพลงนี้จึงมีการบันทึกเสียงจากศิลปินรุ่นต่อๆมามากมาย อีกทั้งเมื่อมีการประกวดเพลงลูกกรุงก็จะนำมาร้องบนเวทีประกวดอย่างสม่ำเสมอ
เนื้อความของเพลง เป็นการเล่าเรื่องที่เฉียบขาดมาก เหมือนไปเล่าเรื่องต่อหน้าสาว พร่ำพรรณาว่ากันตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน มีการดักทางสาวเจ้า พี่รักเจ้าจริงมานานแล้วหนาอย่าปันใจไปให้ใครอื่น ซึ่งในท่อนนี้ อ.สุนทรียา ได้ซ่อนบทเปรียบเปรยกับโมรา เอาไว้ด้วย

นานแล้วพี่หลงพะวงมิหน่าย นานแล้ว พี่หมายจะได้ภิรมย์
นานแล้วพี่รักคอยจักชื่นชม นานแล้วรักเพียงลมลมตรมเช้าค่ำ


เริ่มต้นเล่าเรื่องอดีตก่อน หลงรัก พะวง​ (กังวล)​ หวังว่าจะมีเรื่องยินดี(ภิรมย์)​ แต่เฉยซะอย่างนั้น ถึงกับไม่เป็นอันกินอันนอน เพียงลมลม มาจากสำนวนไทยลมๆแล้งๆ ประมาณว่าแทบเป็นไปไม่ได้ อันนี้หลายๆท่านที่อายุขึ้นเลขห้าเลขหกขึ้นไป คงเข้าใจหัวอกลูกผู้ชายกับรักแรกกันดีว่า ตรมเช้าค่ำ เป็นอย่างไร เพราะสมัยก่อนนั้นการที่จะได้พบคนรัก ต้องมาหากันหรือติดต่อทางจดหมายเท่านั้น ในยุคที่โทรศัพท์สาธารณะยังต้องต่อแถวโทร จึงได้แต่จินตนาการถึงคนรัก ได้แต่ติดถึง

ที่รักน่ะรักแต่ใจมิกล้า ที่ช้าน่ะช้ามิกล้าเผยคำ
ที่คิดน่ะคิดกลัวอกจะช้ำ เอ่ยคำแล้วเจ้าจะทำช้ำใจ


บทนี้ใกล้นางเข้ามาหน่อย เรียกที่รักแล้ว ได้อยู่ต่อหน้าแต่ยังไม่พูดบอกรักที่มีต่อเธอ กลัวไปหมด

อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้
พอรุ่งรางก็จางหายไป รู้แน่แก่ใจได้แต่ระทมชีวี


” น้ำค้าง เกิดจากความชื้นในอากาศที่จับตัวกันกลายเป็นหยดน้ำ จะเกิดในเวลากลางคืน เนื่องจากอุณหภูมิต่ำ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแสงแดดส่องความร้อนจะทำให้น้ำค้างระเหยไปหมดสิ้น ”

มาถึงช่วงสำคัญ ท่อนแยก ซึ่งเป็นท่อนที่ดนตรีต่างจากท่อนอื่นและกลับร้องซ้ำ เนื้อความเป็นการดักทางโดยการดัดแปลงบทกลอนใน นิทานคำกลอนเรื่องจันทโครบ ที่แต่งโดยกวีเอกรัตนโกสินทร์ ท่าน สุนทรภู่ ขออนุญาตยกบทกลอนบางช่วงนำมาประกอบบทความ

” พระคุณพี่มีมาแก่เจ้ามาก ถึงยามยากมิให้ช้ำระสํ่าระสาย
เจ้าร้องไห้ใจพี่จะขาดตาย เลือดในกายพี่ยังรองให้น้องกิน
เมื่อเดินไพรพี่ก็ใส่สะเอวอุ้ม เจ้าควรคุมฆ่าผัวไม่ผันผิน
ไปยื่นดํ้าให้อ้ายโจรใจทมิฬ โอ้ยุพินพี่พึ่งรู้ประจักษ์ใจ
อารมณ์นางเหมือนนํ้าค้างที่ร่มพฤกษ์ เมื่อยามดึกดั่งจะรองไว้ดื่มได้
พอรุ่งแสงสุริยฉายก็หายไป มาเห็นใจเสียเมื่อใจจะขาดรอน

เมื่อแรกรักมิได้แหนงเสียแรงรัก เสียดายศักดิ์ที่ได้ร่วมสโมสร
ขอฝากชื่อไว้ให้ลือขจายจร เทพนิกรช่วยประกาศในโลกา
กุลบุตรเป็นบุรุษรักษาศักดิ์ อย่าเรียนรักนารีเหมือนเยี่ยงข้า
สิ้นประกาศขาดจิตจากอุรา ก็มรณาอยู่ในไพรพนม ฯ “

ที่มา นิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่องจันทโครบ

ถ้าเพียงดูเผินเผินก็เป็นเพียงการดักทาง เปรียบเปรยธรรมดา เธออย่าเป็นอย่างเช่นน้ำค้าง น้า แต่ถ้ามองกันให้ลึกๆ ถ้าเธอทิ้งฉันเปรียบเสมือนเธอเป็น นางโมรา เลยนะจะบอกให้ เพราะจันทโครบก็เคยพูดแบบนี้ไว้ ( เธอจะกล้าไหมล่ะ )

ที่รักน่ะรักเพราะเทพเสริมส่ง ที่หลงน่ะหลงเพราะเจ้าแสนดี
ที่หวงน่ะหวงเพราะสวยอย่างนี้ กลัวใครเขามาแย่งพี่ไปเอย

มาถึงบทสุดท้ายด้วยการปลอมใจ ชมเชย หวงแหน ขึ้นต้นก็อ้าง เทพ กันเลยที่เดียว เข้าใจว่าเทพ ในที่นี้คือกามเทพ เทพแห่งความรักแผงศรมาปักกลางใจพี่ อีกทั้งน้องก็เป็นคนดี และสวยด้วย เลยทั้งรักทั้งหวง

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุ “ที่รัก” เธอ เรียกเธอว่า “ที่รัก”

Be the first to leave a reply

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *