เส้นทาง เพลงเพื่อชีวิต…01 ประเภทของเพลงไทยในประวัติศาสตร์
ประเภทของ เพลงไทยในประวัติศาสตร์
1. กลุ่มเพลงปลุกใจ ให้รักชาติ รักความเป็นไทย
2. กลุ่มเพลงรัก ครูนารถเรียก “เพลงประโลมโลกย์”
3. กลุ่มเพลงชีวิต
ยุคนั้นยังไม่เรียก “เพลงเพื่อชีวิต” คือเพลงที่หยิบยกเอารายละเอียดชีวิตของคนในอาชีพต่างๆ มาพรรณนาด้วยคำร้องที่เรียบง่ายแต่กินใจ มุ่งสะท้อนสภาพทางสังคมและเสียดสีการเมืองบ้างพอสมควร อันถือได้ว่าเพลงชีวิตคือ “รากฐาน” ของเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา
นั่นคือหลังจากปี พ.ศ.2500 มาแล้ว จึงมีการแบ่งเพลงไทยสากลออกเป็น
1. เพลงลูกกรุง เช่นเพลงของ สุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร ฯลฯ
2. เพลงลูกทุ่ง เช่นเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ
โดยคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 2507 เมื่อมีรายการโทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรหม รายการหนึ่งตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และจนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อประชาธิปไตยเบ่งบานจึงเริ่มมีเพลงประเภทที่ 3 เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เกิดขึ้นจากแนวคิดศิลปะต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งปรากฏในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งขบวนการนักศึกษาให้ความยอมรับนับถือ
การแบ่งประเภทของ “เพลงไทยสากล” ออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ ลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพื่อชีวิต ยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้แม้ว่าเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งจะพัฒนาไปอย่างหลากลาย ทั้งตลกขบขัน รักหวานชื่น หัวอกขื่นขม สองแง่สามง่าม เสียดสีสังคม ฯลฯ ขณะที่เพลงเพื่อชีวิตก็แตกแขนงทางเนื้อหาสาระและแนวดนตรีออกไปมากเช่นกัน
แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่า ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันล้วนมีรากฐานมาจาก “เพลงชีวิต” ที่ศิลปินชั้นครูอย่าง แสงนภา บุญราศรี, เสน่ห์ โกมารชุน, ไพบูลย์ บุตรขัน, คำรณ สัมบุณณานนท์ ได้บุกเบิกรังสรรค์ไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2480-2490 นั่นเอง
ข้อมูลจาก จุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
รวบรวมและจัดทำโดย กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต”
ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544
Be the first to leave a reply