เส้นทาง เพลงเพื่อชีวิต…05 ทศวรรษที่ 2490 ขุมทองของเพลงชีวิต
ทศวรรษที่ 2490 ขุมทองของเพลงชีวิต
ความตื่นตัวในวงการเพลงที่มีสถานีวิทยุและธุรกิจแผ่นเสียงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทำให้รูปแบบและเนื้อหาเพลงชีวิตในทศวรรษ 2590 พัฒนาไปในทิศทางที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แพร่กระจายไปสู่ความรับรู้ของมวลชนระดับกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการที่แนวเพลงรักหวานชื่นของวงดนตรีสุนทราภรณ์กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ แนวเพลงชีวิตก็มี คำรณ สัมบุณณานนท์ เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ที่เด่นชัด โดยมีนักประพันธ์เพลงคนสำคัญคือ ไพบูลย์ บุตรขัน ป้อนเพลงให้จนคำรณพุ่งขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดในยุคนี้เช่นกัน โดยมีนักร้องร่วมสมัยอย่างชาญ เย็นแข, ชลอ ไตรตรองสอน และปรีชา บุญเกียรติ เติมสีสันให้วงการเพลงชีวิตมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การปิดกั้นเพลงชีวิตบางเพลงด้วยการไม่อนุญาตให้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ โดยรัฐบาลจอมพล ป. ในยุคนั้น ไม่แตกต่างไปจากการที่คณะกรรมการบริการวิทยุและโทรทัศน์ (กบว.) สั่ง “แบน” เพลงบางเพลงในยุคนี้ คือยิ่งห้าม เทปและแผ่นเสียงก็ยิ่งขายดี
อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะที่โรงละครหลายแห่งปิดเวทีแล้วหันไปฉายภาพยนตร์แทน ในปลายทศวรรษนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อนักร้องเพลงชีวิตอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะนักร้องแนวนี้ส่วนใหญ่เป็น “นักร้องสลับฉาก” ตามเวทีละคร เมื่อละครปิดฉากลง พวกเขาหลายคนต้องดิ้นรนออกไปเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดกับวงดนตรีของคนอื่นๆ หรือวงดนตรีที่ตนเองตั้งขึ้น และได้กลายเป็นที่มาของวงดนตรีลูกทุ่งที่เฟื่องฟูมากในทศวรรษต่อมา อันเป็นทศวรรษที่มีการแบ่งแยกเพลงออกเป็น “ลูกกรุง” “ลูกทุ่ง” เป็นครั้งแรกของวงการเพลงเมืองไทย และเป็นยุคที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ตลอดทั้งทศวรรษ 2500
ซึ่งนับเป็นทศวรรษที่เพลงชีวิตซบเซาถึงขีดสุด ในขณะที่เพลงลูกทุ่งเริ่มฟูเฟื่องพร้อมๆ กับได้เกิดเพลงชีวิตอีกแนวหนึ่งโดยนักเขียนนาม “ จิตร ภูมิศักดิ์ ” ขึ้นภายในกำแพงคุก ในช่วงที่เขาถูกจองจำในฐานะ “นักโทษการเมือง” และเพลงของจิตรนี้เองที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่การเป็นต้นแบบของ “เพลงเพื่อชีวิต” ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
จนกระทั่ง “เพลงเพื่อชีวิต” กลายเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยที่สังคมให้การยอมรับตราบจนปัจจุบัน อันนับเป็นระยะเวลาที่ห่างจากเพลงยุคบุกเบิก “เพลงชีวิต” โดยแสงนภา บุญราศรี ราวกึ่งศตวรรษหรือ 50 ปีพอดี
ข้อมูลจาก จุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
รวบรวมและจัดทำโดย กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต”
ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544
Be the first to leave a reply