เส้นทาง เพลงเพื่อชีวิต…03 จากแสงนภา ถึง เสน่ห์ โกมารชุน นักเพลงยั่วล้อสังคม
จากแสงนภา ถึง เสน่ห์ โกมารชุน นักเพลงยั่วล้อสังคม
ในยุคสมัยไล่เลี่ยกับความโด่งดังของแสงนภา ยังมีนักร้องนักแต่งเพลงแนวชีวิตอีกท่านหนึ่งคือ เสน่ห์ โกมารชุน ศิลปินเพลงประจำวงดุริยางค์ทหารเรือ เขามีผลงานเพลงหลายแนว ทั้งเพลงหวานซึ้งกินใจ อย่างเพลง “งามชายหาด” และ “วอลท์ซนาวี” แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากคือแนวเพลงชีวิตในรูปแบบ “เพลงยั่วล้อสังคม” มองโลกมองชีวิตมองการเมืองด้วยอารมณ์ตลก ขบขัน ประชดประเทียดเสียดสี เช่นเพลง “สุภาพบุรุษปากคลองสาน” หรือที่รู้จักกันในชื่อเพลง “บ้าห้าร้อยจำพวก” เสียดสีคนที่ยึดติด งมงายกับสิ่งต่างๆ ด้วยลีลาตลกขบขัน หรือเพลง “โปลิศถือกระบอง” ยั่วล้อตำรวจที่เริ่มใช้กระบองปราบผู้ร้าย
เสน่ห์ โกมารชุน
นอกจากการเป็นนักร้องนักแต่งเพลงแล้ว เสน่ห์ โกมารชุน ยังมีความสามารถรอบด้าน เป็นทั้งนักพากษ์หนัง ดาราลิเก ดาราละครวิทยุ มีชื่อเสียงต่อเนื่องจากทศวรรษ 2480 ถึงต้นทศวรรษ 2490 ก็มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดหักเหและพลิกผันของชีวิต เมื่อเขาแต่งเพลงเสียดสีนักการเมือง ชื่อ “ผู้แทนควาย” และเป็นปากเป็นเสียงให้กรรมกรสามล้อถีบ ซึ่งกำลังจะถูกรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งห้ามวิ่งในเขต พระนคร-ธนบุรี ด้วยการแต่งเพลง “สามล้อแค้น” ในเชิงประท้วงรัฐบาล จนเสน่ห์กลายเป็นขวัญใจของชาวสามล้อในปี 2492
ผลก็คือเพลง “สามล้อ”, “ผู้แทนควาย” กลายเป็นเพลงต้องห้าม ไม่ให้เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ และเมื่อวันหนึ่งเมื่อเสน่ห์ขับร้องเพลงนี้ที่เวทีเฉลิมนคร เขาก็ถูกเชิญตัวไปพบอธิบดีกรมตำรวจ อัศวินเผ่า ศรียานนท์ เจ้าของคำขวัญ “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้…” และยังมีฉายาว่า “ใครค้านท่านฆ่า” อีกด้วย
เสน่ห์ถูกเชิญตัวไปสอบสวน และให้เลือกทางที่ “อยู่” หรือ “ตาย” เท่านั้น ทำให้ในที่สุดเขาจำใจต้องเลิกแต่งและร้องเพลงแนวชีวิตยั่วล้อเสียดสีสังคม หันไปสร้างภาพยนตร์ “แม่นาคพระโขนง” ที่ส่งให้นางเอกดาวยั่ว ปรียา รุ่งเรือง โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์
ทั้งนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 2495 ในขณะที่เสน่ห์ต้องหยุดงานเพลงชีวิต และแสงนภา บุญราศรี ลดบทบาทนักร้องนักแต่งเพลง หันไปทำอาชีพค้าขาย พร้อมๆ กับมีบทบาทในสมาคมกรรมกรไทย ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงที่ดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการเพลงชีวิตคนใหม่ คือ คำรณ สัมบุณณานนท์กำลังเปล่งรัศมีขึ้นมาแทนที่จนครองใจแฟนเพลงสูงสุดในปี 2493 เมื่อไปเป็นพระเอกหนังเรื่อง “ รอยไถ ” ในขณะที่มีครูเพลงฝีมือเยี่ยม อย่างครูไพบูลย์ บุตรขัน ครู ป. ชื่นประโยชน์ และครูสุเทพ โชคสกุล ป้อนเพลงในแนวชีวิตและเพลงในแนวลูกทุ่งให้อย่างไม่ขาดสาย
แต่ภาพลักษณ์ช่วงแรกๆ ของพระเอกนักร้องคนนี้ในสายตาแฟนเพลง ก็คือผู้สืบทอดและสานต่อแนวเพลงชีวิตของแสงนภา บุญราศรี อย่างเด่นชัดที่สุด เพลงชีวิตที่สร้างชื่อเสียง เช่น ตาสีกำสรวล, มนต์การเมือง, กรรมกรรถราง, พ่อค้าหาบเร่, ชายสามโบสถ์ ฯลฯ ล้วนเป็นผลงานที่ครูเพลงป้อนให้ทั้งสิ้น
เพลง ชายสามโบสถ์ คำร้อง – ทำนอง : ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้อง : คำรณ สัมปุณณานนท์
ทั้งนี้ผลงานเพลงชีวิตของครูไพบูลย์ บุตรขัน อีก 2 เพลง ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษ 2490 คือ เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” และ “ค่าน้ำนม” ที่ขับร้องโดยชาญ เย็นแข โดยเพลงแรกถูกรัฐบาลสั่งห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุ แต่ทำสถิติยอดจำหน่ายแผ่นเสียงแบบถล่มทลาย ส่วนเพลงที่สองได้กลายเป็นเพลงอภิมหาอมตะแห่งความผูกพันระหว่างแม่และลูกมาตราบจนปัจจุบัน
เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย คำร้อง ทำนอง ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้อง ชาญ เย็นแข
อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี
เอาผืนนาเป็นที่พำนักพักพิงร่างกาย
ชีวิตเอยไม่เคยสบาย
ฝ่าเปลวแดด แผดร้อนแทบตาย ไล่ควายไถนาป่าดอน
เหงื่อรินหยดหลั่งลงรดแผ่นดินไทย
จนผิวพรรณเกรียมไหม้แดดเผามิได้อุทธรณ์
เพิงพักกายมีควายเคียงนอน
สาบควายกลิ่นโคลนเคล้าโชยอ่อน ยามนอนหลับแล้วฝันใฝ่
กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาวแห่งชาวบ้านนา
ไม่เลอเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์
หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน
กลิ่นกระแจะจันทร์ หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนา
อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคา
ต่างกันแต่ชีวิตชาวนา บูชากลิ่นโคลนสาบควาย
เพลงค่าน้ำนม คำร้อง ทำนอง ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้อง ชาญ เย็นแข
แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
ที่เฝ้าหวง ห่วงลูกแต่หลัง เมื่อยังนอนเปล
แม่เราเฝ้าโอละเห่
กล่อมลูกน้อยนอนเปล ไม่ห่างหันเหไปจนไกล
เมื่อเล็กจนโตโอ้แม่ถนอม
แม่ผ่ายผอม ย่อมเกิดจากรัก ลูกปักดวงใจ
เติบโต โอ้เล็กจนใหญ่
นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหน้า เพราะค่าน้ำนม
ควรคิด พินิจให้ดี
ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม
โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม
เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน
ค่าน้ำนมครวญ ชวนให้ลูกฝัง
แต่เมื่อหลัง เปรียบดังผืนฟ้า หนักกว่าแผ่นดิน
บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น
หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย
ข้อมูลจาก จุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
รวบรวมและจัดทำโดย กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต”
ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544
Be the first to leave a reply