อัสนี พลจันทร์ : จากราวป่า…สู่บ้านเกิด

จากราวป่า…………

21 พฤศจิกายน 2540 นับย้อนหลังไปจากนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะครบ 7 ปี สำหรับหญิงชราคนหนึ่ง ที่ได้เฝ้ารอการกลับมาของคู่ชีวิต หลังจากที่ต้องพลัดพรากจากกันไปนับเวลาไม่ได้

แดดในวันนั้นร้อนแรง ขณะที่หญิงชราพร้อมด้วยมิตรสหายมากมายหลายกลุ่ม รวมไปถึงศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังอย่างยืนยง โอภากุล กำลังรอคอยท่านผู้จากไปอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว…….

เช่นเดียวกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ชลธิรา สัตยาวัฒนา และใครต่อใครอีกหลายคนที่ได้พบ”สหายไฟ”ที่นั่นซึ่งความประทับใจที่สหายไฟได้มีเมตตาจากดวงใจอันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะหนุ่มสาวปัญญาชน ที่อยู่ในฐานะเยาวกวี ซึ่งท่านได้เมตตาเป็นพิเศษจากคำบอกเล่าอันตรงกันคือ ผู้เฒ่าจะใส่ใจตรวจงานเขียนให้อย่างตั้งใจเป็นพิเศษพร้อมคำวิจารณ์และให้กำลังใจ

 

กระท่อมไม้ไผ่ปลายเนินหลังนั้น ไม่เคยว่างเว้นจากบรรดาเยาวกวีซึ่งมีความอ่อนไหวในอารมณ์อันนำพาไปสู่จุดขัดแย้งท่ามกลางสถานการณ์ปฏิวัติ ที่ได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนปรับทุกข์ไม่เว้นแต่ละวัน…..นั่นคือห้วงเวลาซึ่งภายในพรรคคอมมิวนิสต์ส่อเค้าขัด แย้งทางความคิด ความเบื่อหน่ายเริ่มเกิดขึ้นแก่บรรดาเหล่าปัญญาชนอันนำมาสู่การตั้งคำถามและตรวจสอบเป้าหมาย จนตัดสินใจหวนคืนสู่นาครในที่สุด

เล่ากันมาว่า นายผีดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และโดนตำหนิจากผู้นำด้านทฤษฎีว่า เป็นศักดินาปฏิวัติ บ้างก็ว่าเป็นปัญญาชนนายทุนน้อย หรือไม่ก็เป็นวีรชนเอกชน แต่ฉายาทั้งหลายนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนายผี ดังที่สุรชัย จันทิมาธรเขียนไว้ว่า “เขาเป็นคนหัวแข็งดื้อรั้น สิ่งใดที่สู้ก็จะสู้หัวชนฝา”

และเมื่อต้องหลบลี้เข้าสู่เขตป่าเขา ความยึดมั่นในความถูกต้องที่ยังคงอยู่อันเป็นจุดที่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคนหัวแข็ง ได้สร้างความขัดแย้งให้ค่อยทวีความรุนแรงขึ้นภายในพรรค…..หลังจากปี 2518 ซึ่งลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยขบวนการคอมมิวนิสต์สายโซเวียตอันใช้กำลังหลักจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นั่นคือช่วงแห่งการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่าจะเดินตามทฤษฎี “โดมิโน”สายโซเวียต ที่ยึดแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าสนับสนุน หรือจะยึดตามอย่างสายจีน ที่เน้นใช้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดประชาชาติและปลุกเร้าอุดมการณ์ ซึ่งส่งผลให้ส่วนหนึ่งรับข้อเสนอของคอมมิวนิสต์สายโซเวียต เตรียมการปฏิวัติโดยกองกำลังตลอดแนวลำน้ำโขงอันเชื่อมต่อประเทศไทย

ในฐานะผู้นำคนหนึ่ง นายผีคัดค้านการใช้กองกำลัง ยืนยันที่จะให้การเปลี่ยนแปลงปฏิวัติประเทศต้องเกิดจากเงื่อนไขของสังคมไทย และโดยคนไทยด้วยกันเอง !อันเป็นเหตุที่ทำให้เขาต้องถูกจำกัดความเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่อยู่ในลาว กระทั่งความขัดแย้งระหว่างจีนและเวียดนามถึงจุดแตกหัก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นทางสายจีน จึงต้องเคลื่อนย้ายกองกำลังออกจากประเทศลาว นั่นเองคือครั้งสุดท้ายที่นายผีได้กลับมาเหยียบถิ่นแผ่นดินแม่เมื่อหน้าแล้งปี 2522 ก่อนที่จะจากไปอีกครั้งเมื่อเกิดยุทธการณ์ล้อมปราบ ในปี 2526

บันทึกของป้าลม หรือสหายลม เล่าว่า……หลังครบรอบวันเกิดครบ 65 ปีของสหายไฟ ได้ไม่นานได้เกิดศึกภูเมี่ยงขึ้นในเขตน่านเหนือ สหายไฟต้องเดินทางไปเจรจาขอซื้อข้าวกับกรรมการกลางของเขตหงสา เนื่องจากเกิดความเสียหายขึ้นอย่างมาก ซึ่งในขณะนั้นเองที่เขตน่านเหนือถูกสั่งให้อพยพลงใต้ ป้าลมมารอฟังข่าวสามีอยู่ที่น่านใต้ โดยที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่านั่นจะคือการพลัดพรากตลอดกาล……..

สู่บ้านเกิด…………

11.15 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 ป้าลมข้ามฝั่งลำน้ำโขงเข้าสู่เวียงจันทร์ ณ จุดกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั่นเองที่หญิงชรา ได้พบมิ่งขวัญแห่งชีวิตอีกครั้ง ชายชราในลักษณาการอ่อนโรยด้วยอายุ และเชื้อไข้ ผมสีดอกอ้อเพิ่มมากกว่าที่เคยเห็น ทว่านัยน์ตานั้นยังเปล่งประกายบริสุทธิ์เช่นเดียวกับคืนวันเก่าก่อน นั่นคือภาพถ่ายสุดท้ายของนายผีหรือสหายไฟ ซึ่งทางการเวียดนามถ่ายไว้ครั้งเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลฮานอย

รถตู้สีเทาได้นำพาท่านผู้เฒ่า กลับมาในกระเป๋า STOWAWAY CLASSIC สีเขียว โดยภิกษุสามรูปถือสายสิญจน์ผูกโยงเข้ากับกระเป๋า วินาทีแห่งความเงียบงันได้เกิดขึ้น เมื่อท่านได้ถูกวางให้สัมผัสแผ่นดินแม่ ณ ขอบสพานนั้น หัวใจทุกดวงน้อมคารวะ พร้อมกันกับที่น้ำตาอีกหลายคนได้เอ่อคลอ………..

คำแรกที่ป้าลมเอ่ยแก่มิ่งขวัญแห่งชีวิตคือ “คุณอัศ กลับบ้าน”

คนที่เคยพบท่านผู้เฒ่าในสำนักหลวงน้ำทา จะคุ้นชินกับภาพชายชราถือไม้เท้าคู่ชีพ แต่นั่นไม่ใช่เพราะวัยชรามาเยือน แต่ทว่าเป็นเพราะโรครูมาตอย ยิ่งช่วงอากาศหนาว เป็นต้องล้มหมอนนอนเสื่อ กระดุกกระดิกไม่ได้ เพราะปวดตากระดูกข้อต่อ ผู้ที่เคยพบท่านช่วงโดนกักตัวไว้ในลาว หลังเขตน่านเหนือแตก บอกว่าเขานอนซมอยู่ในส่วนพักฟื้น หลังจากนั้นได้ถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลฮานอย ประเทศเวียดนาม แต่ไม่ใช่ด้วยโรคกระดูกอย่างเดียวที่เข้ามาคุกคามแต่มีโรคกระเพาะเรื้อรังอันเป็นเหตุนำไปสู่การเป็นมะเร็งลำไส้

ค่อนปี 2530 นายผีขอกลับคืนประเทศลาวได้ แต่เมื่อมาพำนักอยู่ที่แขวงอุดมไชย ในที่สุด วันที่ 28 พฤศจิกายน 2530 เขาก็ได้จบชีวิตลง……

ออกจากสะพานมิตรภาพ มุ่งสู่วัดพระศรีสุมังค์ แว่วเสียงเพลงทำนองคึกคักแต่เร่งเร้าเนื้อหาชวนสะเทือนใจ

อายุหกสิบห้าไม่มีอาก้าจะสะพาย
มีแล้..ก็แต่คาไบน์ ถึงปืนไม่ร้าย แต่ใจยังจำ
จับปืนขี้เมี่ยง มองเมียงมือคลำ
นัดหนึ่งคนหนึ่ง นิ้วตึงอกแตก
เลือดทะลักชักแหลก แลกกับเลือดหกตุลา……คม
ห้าขวบหย็อย ๆ อยู่ข้างหน้า หกสิบห้าเหย่า ๆ ตามหลัง
ทางภูดูยาวเหยียดหยัด ต้องการสมรรถพลัง
สองขาพาไป จะปะอะไรก็ช่าง
ถึงปู่ล้มหลานยัง เสียงปืนยิงปังก้องพนา…… เอ๋ย……พนม
ปัง ปัง ปัง……ก้องพนา…..
(คนล่าสัตว์-กินนร เพลินไพร)

 

หลังพิธีสวดบังสุกุล, ผ้าขาวผืนใหญ่ถูกคลี่ลงบนโต๊ะ กุญแจสีเขียวติดกระเป๋าถูกไขออก ส่วนกะโหลกถูกประคองออกจากกระเป๋ามาจัดวางบนผ้าขาวเป็นลำดับแรก กระดูกนั้นอาบน้ำยามันเลื่อมเกือบครบบริบูรณ์ทุกชิ้นส่วน ป้าลมคือคนแรกที่อาบน้ำศพ ดดยพรมน้ำหอมลงตรงมือทั้งสองข้าง

ต่อเมื่อบรรจุกระดูกลงในโลงไม้สีขาว, นับเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดหมาย เมื่อป้าลมเปิดกระเป๋าถือ ดึงเอาผ้าแพรสีแดงเลือดนกผืนใหญ่ออกมา กลางผ้าประดับด้วยดาวเหลืองดวงมหึมา ออกมาห่มคลุมร่างโครงกระดูกท่านผู้เฒ่า ซึ่งป้าลมได้ให้ความหมายและที่มาที่ไปของธงผืนนี้ไว้ว่า…

” คุณอัศคือทหารปลดแอก ธงรูปดาวนั้นเป็นธงของทหารปลดแอก คือคิดถึงวันนั้น ตอนที่กำลังจะออกจากเขตลาว จะข้ามมาเขตไทย วันนั้นเป็นวันที่ลุงต้องซ่อนตัว ไม่ให้ทางการลาวเจอ ลุงข้ามมาและตั้งใจว่าจะไม่กลับเข้าไปอีก ลุงจะอยู่ในลักษณะของทหารปลดแอก ทำหน้าที่นำเด็กไปส่งเข้าประเทศจีน คือใครเขาทำอะไรกันถ้าช่วยทางความคิดได้ก็จะช่วย ก็เลยคิดว่าหากถึงวันสุดท้ายของลุง ถ้าป้ายังไม่เป็นอะไร สิ่งหนึ่งที่จะห่มให้ลุงคือผ้าแพรผืนนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทหารปลดแอก ”

หนึ่งชั่วโมงถัดมา โลงสีขาวถูกยกขึ้นรถตู้คันเดิม ขบวนต้อนรับท่านผู้เฒ่าคืนถิ่นออกจากฝั่งโขง มุ่งสู่นครราชสีมา โดยมีรถนำขบวนจากกองปราบปรามพิเศษคอยอำนวยความสะดวก นั่นเป็นเสมือนประจักษ์พยานยืนยันถึงห้วงเวลาอันสงบสันติ แม้ครั้งหนึ่งเขาจะยืนอยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลไทย ถึงขั้นจับอาวุธขึ้นต่อกร แต่เมื่อถึงวันเวลาที่เขากลับมา เขาได้รับทั้งเกียรติและการคารวะ !

สนามฟุตบอลสถาบันราชภัฏนครราชสีมา, คืนวันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 บทเพลง ‘คิดถึงบ้าน’ ถูกขับขานร่วมกันด้วยน้ำเสียงของคนกว่าสามหมื่นคน จากงานต้อนรับท่านผู้เฒ่ากลับบ้าน หลังจากพิธีเผา ในวันที่ 11 มกราคม 2541 ท่านก็ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างสงบภายในอนุสรณ์สถานซึ่งสลักคำว่า ‘เดือนเพ็ญ’ ไว้บนพื้นหินอ่อน กลางไร่อ้อยของคู่ชีวิต ณ จังหวัดกำแพงเพชร…….

หลับเถิดท่านผู้เฒ่า ท่านได้เหนื่อยหน่ายมานานนัก ณ บัดนี้ และตลอดไปแผ่นดินแม่นี้จะเป็นที่พักพิงสุดท้าย ท่านไม่ต้องเดินทางรอนแรม ท่านไม่ต้องกังวล ลูกหลานข้างหลังยังคงต่อสู้เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของท่านเสมอมา…และจะคงต่อสู้ตลอดไป……เพื่อก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า…….

มา…และจะคงต่อสู้ตลอดไป……เพื่อก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า…….

 ” ใบตอง ” บันทึกเรื่อง ข้อมูล WRITER MAGAZINE วันที่ 12 ธันวาคม 2540    

สุรชัย จันทิมาธรเป็นคนนำเพลงนี้ออกมาจากราวป่า และบันทึกเสียงครั้งแรกในนามของวง “คาราวาน” กับอัลบั้มชุด “บ้านนาสะเทือน” เมื่อปี 2526 ต่อมาในปี 2528 ยืนยง โอภากุล ได้นำมาบันทึกเสียงอีกครั้ง ในนาม “แอ๊ด คาราบาว” กับอัลบั้มชุด “กัมพูชา” และได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น “เดือนเพ็ญ” พร้อมทั้งสลับท่อนเนื้อร้องแต่เดิม

Be the first to leave a reply

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *