อัสนี พลจันทร์ : อัยการแพะ ปีศาจบดี มหากวีประชาชน

อัยการแพะ ปีศาจบดี มหากวีประชาชน

หนึ่งวีรชนของเราคนไทยได้จากบ้านเกิดเมืองนอนไปนานนับสิบปี แล้วได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน ท่านผู้หวังไว้เสมอว่าสักวัน “ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้ากับอกแม่เอย” ประวัติศาสตร์อาจลบเลือน เรื่องราวของท่านผู้นี้ แต่ในดวงจันทร์ดวงเดียวกัน ได้จารึกเรื่องราว ชีวิต การเดินทาง ของท่านไว้ตลอดกาล……..ท่านอัศนี พลจันทร หรือ นายผี หรือ สหายไฟ เจ้าของบทเพลงเดือนเพ็ญนั่นเอง อัตชีวประวัตของท่านต่อไปนี้ forlifethailand.com ขอมอบให้เป็นการร่วมรำลึกถึงท่านผู้จากไปด้วยเถิด
แต่ก่อนกาลกำเนิด
อัศนี พลจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดาคือ พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) มารดาชื่อ นางสอิ้ง พลจันทร ซึ่งถ้าหากจะสืบเชื้อสายบิดาขึ้นไปจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบว่าต้นตระกูลคือพระยาพล เดิมชื่อนายจันทร์ เคยรบกับพม่า จนได้ชัยชนะ และเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมื่ออายุได้ 3 เดือน มารดาได้เสียชีวิตไป เขาถูกทิ้งให้อยู่ในภาระดูแลของย่าซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบ ส่วนปู่นั้นนับว่าเป็นคนมีฐานะจัดได้ว่าระดับเศรษฐี มีกิจการโรงสี และที่นาให้เช่า นอกจากนั้นยังค้าทอง ค้าเสาและไม้ฝาง อัศนีในวัยเด็กจึงเพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สิน เดินทางไปเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดด้วยรถม้าส่วนตัว มีพี่เลี้ยงคอยรับส่งทุกวันจน

จบมัธยมปีที่ 5 จึงได้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในกรุงเทพ ฯ จนจบชั้นมันยม 8 เมื่อพ.ศ. 2479 จากนั้นจึงได้เข้า ศึกษาวิชากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี 2483
ความสนใจในศิลปวรรณคดีเริ่มต้นจริงจังในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ปีพ.ศ. 2480 ขณะอายุเพียง 19 ปี ได้เขียนบทความตอบโต้ทรรศนะของ ส.ธรรมยศ เกี่ยวแก่เรื่อง “นิราศลำน้ำน้อย” (ของพระยาตรัง) ในชื่อ “นางสาว อัศนี” ซึ่งในเวลานั้น ส.ธรรมยศ นับว่าเป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญ แต่ก็สู้ทัศนะของอัศนีไม่ได้ ทำให้ ส.ธรรมยศโกรธมาก

จึงก่อเกิดเป็น นายผี
นามปากกา “นายผี” ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ในนิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน (ผู้ก่อตั้งคือ จำกัด พลางกูร และสด กูรมะโลหิตโดยมี จำนง สิงหเสนี เป็นบรรณาธิการ) ในฐานะคนควบคุมคอลัมภ์กวี และมีงานเขียน บทกวีใช้นาม”นายผี”ในคอลัมภ์ดังกล่าว
เอกชน ฉบับแรกออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2484 เพียงช่วง 2-3 เดือนนาม “นายผี” ก็เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก ด้วยเนื้อหาทางความคิดที่สะท้อนสังคมในมุมกว้าง ๆ กับบทกวีด่าว่าเสียดสีผู้หญิงที่แต่งตัวไม่เหมาะสม แต่ด้วยเหตุที่ทำให้ผู้อ่านติดตามอย่างเหนียวแน่น ก็คือบทกวีตอบโต้ระหว่างนายผีกับผู้อ่าน โดยเฉพาะกรณีที่นายผีแสดงความสลดใจที่วงการกวีเสื่อมโทรมลง อีกทั้งยังดูหมิ่นว่าเมืองไทยไร้กวี จึงทำให้ได้รับการตอบโต้โดยทันทีจาก ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ และ หลวงบุณยมานพพาณิชย์ สองกวีสำคัญในสมัยนั้น โดยเฉพาะท่านหลังนับเป็นขาประจำที่เขียนกวีตอบโต้กับนายผี ในประเด็นต่าง ๆ โดยใช้นามปากกาว่า “นายสาง”

ทิ้งกวี…สู่…อัยการ
เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ผลงานในนาม “นายผี” ก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่ออัศนี ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกรมอัยการตามคำเคี่ยวเข็ญของบิดา ทั้ง ๆที่ใจเขาไม่อยากเป็น แต่เพื่อตัดความรำคาญ จึงได้ไปสมัครสอบ และตั้งใจที่จะทำให้สอบตก แต่ข้าราชการกรมอัยการคนหนึ่งไม่ยอมเชื่อว่าบัณฑิตหนุ่มจากธรรมศาสตร์จะทำข้อสอบไม่ได้ จึงขอตัวไปช่วยงานโดยบรรจุในตำแหน่ง อัยการฝึกหัดกองคดีชั้นจัตวา อันดับ 7 ในวันที่ 21 กรกฎาคม ด้วยเงินเดือนเริ่มต้น ที่ 50 บาทเส้นทางสู่การเป็นข้าราชการของ “นายผี”ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อวิบากกรรมของเขาได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดคดีหนึ่งที่คนในกรมอัยการ ไม่กล้าฟ้อง เพราะจำเลยเป็นน้องชายของผู้เรืองอำนาจในทางการเมือง จนได้ส่งคดีนี้มาให้อัศนี และทำให้เขาชนะอย่างเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้อัสนีโดนคำสั่งลับให้ย้ายไปอยู่ แม่ฮ่องสอน ซึ่งในขณะนั้นนับได้ว่าเป็นไซบีเรียของเมืองไทยเลยทีเดียว
แต่ด้วยความเมตตาจากผู้ใหญ่ที่รับท่านเข้าทำงาน จึงช่วยให้ไปอยู่ปัตตานีแทน ทั้งได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2485 และได้มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 80 บาท แต่ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างสงคราม จึงต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร ต้องเหวี่ยงแหหาปลามากินเอง ส่วนที่เหลือยังเผื่อแผ่เจือจานเพื่อนบ้าน ซื้อไก่มาเลี้ยงเอาไข่ไว้กิน และซื้อแพะมาเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม

ขนานนาม…”อัยการแพะ”
วันหนึ่งขณะอัศนีนั่งเขียนหนังสือเพลินอยู่ แพะย่องข้ามากินต้นฉบับหมดไปหลายแผ่นในเวลาต่อมาฉายา”อัยการแพะ” จึงเป็นคำเรียกอัศนี ที่ติดปากชาวบ้านไปโดยปริยาย และที่ปัตตานี่เอง ที่อัศนีมีโอกาสลงมาคลุกคลีกับชาวบ้าน เขาพยายามที่จะศึกษาภาษารวมไปถึงวัฒนธรรม ฝึกอ่านคำภีร์อัลกุรอาน จนแม้กระทั่งไม่กินหมูตามแบบอย่างมุสลิม ถึงขั้นสวมหมวก กาบีเยาะห์ ด้วยเวลา 2 ปี ในปัตตานีอัศนี ยืนเคียงข้างชาวบ้านผู้เสียเปรียบมาโดยตลอด สร้างชื่อเสียงในหลายคดี โดยเฉพาะการสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านกว่า 50 คนที่โดนจับด้วยข้อหาไม่สวมหมวกตามนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนกระทั่งที่สุดเมื่อมีข่าวว่าเขาเตรียมเข้าร่วมก่อกบฏกับคนในท้องถิ่น จึงทำให้เขาได้รับคำสั่งโดนย้ายอีกครั้ง ในวันที่เขาจากมา ชาวไทยมุสลิมหลายคนร้องห่มร้องไห้ด้วยความอาลัยรัก

ความหมายของ “นายผี”
การต้องรับหน้าที่ “อัยการ” ทำให้บทกวี ในนามของ “นายผี” แทบจะไม่มีออกมาอีก อันเนื่องมาจากเขาใช้เวลาหมดไปปีครึ่งในการแปล “ภควัทคีตา” จากภาษาสันสกฤต ( ต่อมาได้ลงพิมพ์ในอักษรสาส์น ตั้งแต่ฉบับเดือนตุลาคม 2493) จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2487 ก่อนที่เขาจะโดนคำสั่งย้ายเพียงไม่กี่วัน นายผีเริ่มบทกวีในหนังสือ “นิกรวันอาทิจ” (สะกดตามแบบภาษาวิบัติในสมัยนั้น) ด้วยบทที่ชื่อว่า “ทำไมนายผีจึงหายตัวได้” โดยพยายามบอกผู้อ่านให้ทราบว่าเหตุที่นายผีต้องหายไประยะหนึ่งนั้น ก็เพราะได้เกิดมีนักกลอนขึ้นมากมาย ซึ่งเรียกได้ว่า”ขนัดถนน” คนที่เป็นกวีตัวจริงจึงจำต้องหลบไปเสียก่อน….นั่นเป็นช่วงระหว่างปี 2484-2487 ซึ่งรัฐบาลจอมพล ป. ได้ออก “วรรณคดีสาร” มาเป็นเครื่องมือโฆษณา “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ซึ่งในนั้นกว่าครึ่งเล่มเป็นบทกวีซึ่งยกย่องนายก ฯ และที่นี่เองที่ได้เกิดนักกลอนขึ้นมากมาย เช่น มนตรี ตราโมท, ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, อรุณ บุณยมานพ, ฯลฯ ในขณะที่ บทกวีของนายผีใน “นิกรวันอาทิจ” มุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสร้างชาติในลักษณะหยามหยัน จึงเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ถึงขนาดโดนคำสั่งห้ามตีพิมพ์อีกในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง
อัศนี ได้ถูกย้ายมาเป็นอัยการผู้ช่วยที่สระบุรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2487 ซึ่งที่นี่เอง เขาได้ใช้ชีวิตร่วมกับ วิมล พลจันทร และในปีถัดมาเขาก็ได้ลูกสาวเพิ่มมาเป็นสมาชิกอีก 1 คน ทำให้เงินเดือนที่ไม่ค่อยจะพอใช้อยู่แล้ว ยิ่งอัตคัตขึ้น งานเขียนก็ยากที่จะลงพิมพ์เพื่อหวังจะเป็นรายได้มาจุนเจือครอบครัว วิมล หรือ ป้าลมจึงต้องออกตระเวณซื้อกล้วย ถั่วหรือข้าวโพดจากไร่มาขายอีกทางหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น นายผีก็ยังมีโอกาสในช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี 2489-2490 ในคอลัมภ์ “วรรณมาลา” ของหนังสือพิมพ์ ‘สยามนิกร’
ในเดือนธันวาคม 2489 โดยได้ตีพิมพ์บทกวี ‘นายผีคือใคร?’ อธิบายความหมายของนามปากกานี้ที่มักมีผู้เข้าใจไปว่าหมายถึง”ผี ปีศาจ”ว่า……….

นายผีใช่ภูตเพื่อ ผลีผลาม
เพราะใช้ชื่อนายผี ผิดแท้
คือองค์อิศวรสาม เนตรนั่น นะพ่อ
นายพวกผีเพื่อแก้ เก่งผี
นายปวงปีศาจต้อง ภูเต ศวรแฮ
ปีศาจบดีทวี ภูตไหว้
กบาลเหล่ากเล วรห้อย คอฮา
รุทรากษเล็งร้ายให้ ฉิบหาย
ผิเป็นผีเพื่อผู้ บาปผละ
เป็นภาพผีฟ้าผาย แผ่นฟ้า
ผินโกรธแก่บุณยสะ สมบาป
คือพวกผีข้าอ้า อดสู

ทั้งยังมีคำอธิบายศัพท์ต่างๆ ไว้ในตอนท้ายของโคลงว่า
ภูเตศวร คือ ภูต(ผี) -อิศวร(จ้าวฤานาย) ก็คือนายของผี
ปีศาจบดี คือ ปีศาจ(ผี)-บดี(จ้าวฤานายป ก็คือนายแห่งผี
รุทรากษ คือ รุท(พระอิศวรผู้เป็นนายผี) อักษ (ตา)ก็คือตาพระอิศวรที่มีอยู่สาม ; หน่วยที่นลาตนั้น เบิกเป็นไฟไหม้พิภพได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นฤาษีตาไฟ และเพราะเหตุที่ได้เผาพระกามมอดไหม้ไปเป็นพระอนงค์ จึงเสียงล้อกันว่า นายผีย่อมทำลายกาม แต่รูปกาม, อาตมันยังอยู่

ใครใดในโลกนี้….เป็นไฉน
คอลัมน์ ” วรรณมาลา ” ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก หนักจากเจ้าพนักงานตรวจข่าว ยิ่งเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2489 ซึ่งรัฐบาลปรีดี พนมยงค์กำลังประสบภาวะวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากกรณีสวรรคต มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้การตรวจข่าวหนังสือพิมพ์เป็นไปอย่างเข้มงวด จนกระทั่งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงได้เริ่มเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ นายผีกลับมาเขียนบทกวีวิจารณ์สังคมและนโยบายรัฐอย่างค่อนข้างรุนแรง และก้าวร้าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักอนา ธิปไตย ที่ไม่พอใจสังคมเก่า แต่ยังขาดเป้าหมายทางการเมืองที่แจ่มชัด ในช่วงปี 2490-2491 นายผีย้ายมาเขียนประจำในคอลัมน์ ‘อักษราวลี’ ของหนังสือ สยามสมัย รายสัปดาห์ บทกวีก็ยิ่งเข้มข้นหนักกว่าเดิม โดยนายผีได้โจมตี บุคคลสำคัญทางการเมืองเป็นรายตัว เป็นต้นว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พลโทกาจ เก่งสงคราม, มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงทำให้มีคำสั่งให้กำราบกวีปากกล้าคนนี้เสีย แต่นายผีกลับไม่กลัวเกรง และได้เขียนกวีท้าทายไปบทหนึ่งว่า
ใครใดในโลกนี้ เป็นไฉน
ใช่พ่อนายผีไย ขยาดเว้น
ทำชั่วบ่ชอบใจ จักด่า
ทำชอบชมเชยเต้น แต่งแกล้งกลอนสวย
ต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม 2491 อัศนี ได้ถูกย้ายไปอยู่อยุธยา เนื่องมาจากสาเหตุที่ รอ. ประเสริฐ สุดบรรทัด เพื่อนคนหนึ่งลงสมัครผู้แทนราษฎร จังหวัดสระบุรี แต่ถูกข้าหลวง ตัดสิทธิ์ อัศนี จึงร้องเรียนไปถึงกรมอัยการ และเหตุที่ได้ย้ายไปอยู่อยุธยา ก็เพราะเห็นว่า อัศนีมีอาเป็นอัยการอยู่ที่นั่น จะได้ช่วยควบคุมดูแลไม่ให้ก่อเรื่องขึ้น…..แต่….
ในปีถัดมา เมื่ออัศนีได้เลื่อนขึ้นเป็นชั้นโท ในวันที่ 1 มีนาคม นายเปลื้อง วรรณศรีจะมาปราศรัยหาเสียงที่อยุธยาและเขาได้ไปขออนุญาติจากข้าหลวงให้เอง แต่ครั้นถึงวัน นายอำเภอกลับไม่ยอม โดยอ้างว่า ข้าหลวงไม่อนุญาติแล้ว จึงเกิดการโต้เถียงขึ้น จังหวะหนึ่งเขาเอื้อมมือจะเกาหลัง นายอำเภอตกใจคิดว่าเขาจะชักปืนออกมายิง จึงรีบปั่นจักรยานออกไป การปราศรัยจึงมีขึ้นได้
จากกรณีนั้น มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาสอบสวน นายอำเภอถูกย้าย เช่นเดียวกับอัศนีซึ่งถูกคำสั่ง ย้ายตามหลังไปเมื่อเดือนกรกฎาคม กลับมาประจำที่กองคดี กรมอัยการ
ให้ก้าวไป สู่ความรุ่งโรจน์
ระหว่างปี พ.ศ.2492-2495 ถือเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของนายผี เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งเข้าไปช่วยทำนิตยสาร อักษรสาส์นรายเดือน ที่สุภา ศิริมานนท์ อดีต บก.นิกรวันอาทิจ เปิดขึ้น เพื่อเป็นเวทีแสดงทัศนะในด้านศิลปวรรณคดีและการเมือง ทั้งนี้ นายผีก็ยังคงเขียนให้กับสยามนิกรและสยามสมัย ควบคู่กันไปด้วย
บทกวีและเรื่องสั้นของนายผี ช่วงนี้ได้ขยายขอบเขตเนื้อหาจากการวิพากษ์วิจารณ์ การเมืองและรัฐบาลในแนวคิดเกี่ยวกับ ความแตกต่างระหว่างชนชั้น การกดขี่ขูดรีด และความอยุติธรรมในสังคม อับอีกส่วนหนึ่งคือการวิพากษ์วิจารณ์สตรีเพื่อกระตุ้นให้เกิดตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง เสนอแนวความคิด เกี่ยวแก่ความรักในรูปแบบใหม่ คือความรักระหว่างชนชั้น และความรัก ในมวลชน นอกจากนี้ ยังมีบทกวีแสดงแนวคิด ปลุกเร้าประชาชนผู้ยากไร้ และชนชั้นกรรมชีพ ให้ตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของตน มีหลายบทที่โดดเด่น อาทิ ” สันติภาพก่อนเพื่อ ” ” ความร้อน ” ” กำลังอยู่ที่ไหน ” ” ทารุณกรรมกลางที่ราบสูง ” โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ ” อีศาน ” ซึ่งลงพิมพ์ในสยามสมัย เดือนเมษายน พ.ศ.2495 นับเป็นบทที่สือเลื่อง ในหมู่คนรุ่นหลัง กระทั่งกลายเป็นตัวแทนของนายผีไปแล้ว ยิ่งเฉพาะท่อนท้ายสุด …

ในฟ้าบ่อมีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย คือเลือดหลั่งลงโลมดิน
สองมือเฮามีแฮง เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
สงสารอีศานสิ้น อย่าซุด,สู้ด้วยสองแขน
พายุยิ่งพัดอื้อ ราวป่ารื้อราบทั้งแดน
อีศานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?

จิตร ภูมิศักดิ์ได้เขียนวิจารณ์บทกวีชิ้นนี้ไว้ในหนังสือปิตุภูมิ เดือนกุมภาพันธ์ 2500 ในนามปากกาว่า ศิลป์ พิทักษ์ชน ว่าเป็นบทกวีที่ตีแผ่ความทุกข์ยากของชีวิต และปลุกเร้าวิญญานการต่อสู้ของประชาชนได้อย่างมีพลัง ทั้งเชิดชูนายผี เป็น “มหากวีของประชาชน”
ฤากล่าวโทษแทนที่…กวีวาน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลจอมพล ป. ได้จับกุมนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, และนักการเมืองจำนวนมากในเหตุการณ์ ‘กบฎสันติภาพ’ ตัวนายผีเองก็โดนตำรวจไปคอยดักจับถึงบ้าน จึงต้องเร่ร่อนแอบซ่อนไม่เป็นหลักแหล่ง จนกระทั่งเย็นวันหนึ่งเขาก็ได้แอบเข้าบ้านไปเก็บเสื้อผ้า ดึงเอาลูกน้อยสองคนมากอด สั่งคุณวิมลให้ซื้อผ้าห่มกันหนาวไว้ให้ลูก พร้อมกับยื่นหนังสือลาป่วยติดต่อกัน 3 เดือน ไปยังหน่วยงานต้นสังกัด แต่ยังไม่ทันครบกำหนด ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกในวันที่ 31 ธันวาคม ปีนั้นเอง และนับจากนั้นมา ไม่มีใครได้พบนายผี อีกเลย โดยที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่านายผีหลบไปอยู่ที่ไหน จะมีก็แต่ สุภา ศิริมานนท์ ที่บอกว่า เขายังวนเวียนอยู่ในกรุงเทพ ฯ และยังได้สร้างผลงานดีเด่นขึ้นมาถึง 2 เรื่อง คือบทกวียาว ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องยาวคำฉันท์ เราชะนะแล้ว,แม่จ๋า

หลังจากนั้น ผลงานของนายผีมีปรากฏอีกครั้งระหว่างเดือนมีนาคม 2496-พฤษภาคม 2497 เป็นเรื่องสั้นสี่เรื่องลงพิมพ์ใน สยามสมัย และได้ห่างหายไปจนกระทั่งปี 2501 จึงมีบทความตีพิมพ์ใน นิตยสารสายธาร และบทกวีใน ปิยมิตรวันจันทร์ จนกระทั่งเดือน 2502 ก็ได้หยุดไปอีกครั้ง จนมีเรื่องสั้นลงตีพิมพ์อีกทีในปี 2503 ซึ่งนั่นคืองานเขียนชิ้นสุดท้าย ก่อนที่จะไม่มีใครได้พบเห็นนายผีอีกต่อไป…..

สร้างตำนาน…..เข้าร่วมพรรค
ในระหว่างที่หลายคนเข้าใจว่านายผียังวนเวียนอยู่ในกรุงเทพ ฯ เหมือนที่เคยหายไปครั้งแรก เขาได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่งได้เริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2485 จึงนับเป็นสมาชิกพรรคในยุคแรก กระทั่งในปี 2504 ชื่ออัศนี พลจันทรปรากฏอีกครั้งในฐานะ “สหายไฟ” โดยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 คนของคณะกรรมการกลางพรรค ฯ ปีถัดมา ผู้บริหารพรรคระดับสูง ในตำแหน่งกรมการเมือง นามรวมวงศ์ พันธ์ถูกจับกุมตัวได้และโดนคำสั่งประหารชีวิต โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ศูนย์การนำต้องโยกย้ายออกจากกรุงเทพฯ สหายไฟ-สหายลม ภรรยาถูกส่งไปฮานอย ก่อนเดินทางเข้าสู่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของประเทศจีนในเวลาต่อมา
นายผีได้สร้างชื่อเสียงให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อนักศึกษาหัวรุนแรง กลุ่มต่างๆ นำผลงานทั้งบทกวี เรื่องสั้น เรื่องแปลและบทวิจารณ์ วรรณกรรมมารวมเล่มออกจำหน่าย ส่งผลให้ผลงานของนายผีเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ออกไปกว้างไกล
ในเขตป่าเขา นายผียังคงเขียนบทกวี และศึกษาศิลปวรรณคดีอย่างขันแข็ง รวมกระทั่งเขียนบทเพลง ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ‘คิดถึงบ้าน’หรือ ‘เดือนเพ็ญ’

บทส่งท้าย
ถึงแม้เวลานี้….นายผี หรือ ลุงผี ได้จากบ้านเกิดเมืองนอนไปอย่างไม่มีวันกลับ หากแต่ประวัติชีวิตของท่านไม่ได้จางจากไปด้วยเลย นามปากกาหลากหลายที่ท่านเคยใช้ หลายคนอาจรู้จักมักคุ้น ในขณะที่อีกหลายคน ไม่เคยแม้จะรู้ว่า เพลงเดือนเพ็ญ ใครเป็นผู้เขียน นายผี, อินทรายุทธ, กุลิศ อินทุศักด์, ประไพ วิเศษธานี, กินนร เพลินไพร, หง เกลียวกาม, จิล พาใจ, อำแดงกล่อม, และนางสาวอัศนี หลับเถิดสหายไฟ หลับในอ้อมกอดอันอบอุ่นของแผ่นดินแม่ ที่ท่านโหยหาจะได้กลับมา ‘ซบหน้ากับอกแม่’ สักครั้ง การเดินทางของท่านได้สิ้นสุดลงเมื่อท่านได้ลงสู่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว พร้อมการต้อนรับอย่างสมเกียรติของ มหากวีประชาชน

ใบตอง บันทึกเรื่อง ข้อมูล WRITER MAGAZINE วันที่ 12 ธันวาคม 2540

Be the first to leave a reply

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *