เส้นทาง เพลงเพื่อชีวิต…07 เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) ตอนที่1

เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) ตอนที่1

เพลงเพื่อชีวิต นั้นมีผู้กล่าวว่า “หมายถึงเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน”
จริงอยู่ การเปลี่ยนแปลงของสังคมในอดีตนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เพลงเพื่อชีวิตและกลุ่มศิลปินเพลงในอดีตก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเขาตีแผ่เรื่องราวความไม่เป็นธรรมของสังคมเราออกมาอย่างไร
“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเขาปลูกฝังอุดมคติอะไรให้แก่คนหนุ่มคนสาวและประชาชน
“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเราเรียกร้องสิ่งใดกลับคืนมาจากนักปกครองเผด็จการ และส่งคืนสิ่งใดให้แก่ประชาชน

คำถามเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องมีคำตอบเพราะเพียงแต่ท่านได้ยิน และจดจำบทเพลงเหล่านั้นได้ คำตอบของมันก็จะอยู่ในใจของท่านตลอดไป

“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ สู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาดเขาจะฟัน เราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย สู้เข้าไปพวกเราเสรีชน”

นี่คือบทเพลง ” สู้ไม่ถอย” ซึ่งเป็นบทเพลงแรกของเพลงเพื่อชีวิต แต่งขึ้นในโอกาสชุมนุมประท้วงคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง 272/2516 ที่มีมติให้ลบชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย จึงนำมาลงตีพิมพ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายย้อนเวลากลับสู่เหตุการณ์ในอดีต อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกระแสสากลนั้น ได้ให้กำเนิดบทเพลงเพื่อชีวิต และศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่างไร

เพลงสู้ไม่ถอย คำร้อง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขับร้อง กรรมาชน 

ปี พ.ศ.2514 รัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งเป็นการสถาปนาอำนาจของกลุ่ม ครอบครัวกิตติขจรและครอบครัวจารุเสถียร ได้ทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อตรึงอำนาจของตัวเองอย่างแน่นหนา โดยให้จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้ถือครองอำนาจเผด็จการ และให้จอมพลประภาส จารุเสถียร คุมกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย รวมทั้งประมวลข่าวกรอง กอ.รมน. และให้ลูกเขย พันเอกณรงค์ กิตติขจร มีบทบาทอย่างสูงในวงการเมืองช่วงนั้น

สถานการณ์บ้านเมืองในตอนนั้นเป็นบรรยากาศของเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบ การแสดงออกทางความคิดเห็นของนักศึกษาปัญญาชนและประชาชนทั่วไป ถูกจำกัดแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้ก็ไม่ได้รับการยกเว้น การปกครองด้วยกฎอัยการศึกของรัฐบาลทหารได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจในหมู่ประชาชน บ้านเมืองคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวของคอร์รัปชั่น

จนมาถึงช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ซึ่งมีแต่การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติเพียงสภาเดียว และออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ความไม่พอใจของประชาชนก็ปะทุขึ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ทำการประท้วงคัดค้าน จนต้องมีการประชุมยกเลิกประกาศฉบับนั้น เหตุการณ์นั้นเองที่นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของขบวนการนักศึกษา

ปี พ.ศ.2516 สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่กระเตื้องขึ้น ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์กรณี “ทุ่งใหญ่” ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเหลวแหลกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการพาดาราสาวไปเที่ยวล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อเครื่องบินลำดังกล่าวตกจึงพบซากสัตว์ป่าที่ถูกล่ามากมาย เป็นผลให้สื่อมวลชนและนักศึกษาร่วมมือกันตีแผ่เปิดโปงการกระทำผิดกฎหมายของฝ่ายราชการ โดยได้รับความสนใจจากประชาชน ภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก

กรณีดังกล่าว ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือในนาม “ชมรมคนรุ่นใหม่” ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยยังไม่มีคำตอบ” ตีพิมพ์ข้อความกระทบกระแทกปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่อ้างว่าเพราะสถานการณ์ต่างประเทศไม่น่าไว้วางใจ หนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำเสียดสี “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี”

ผลจากกรณีดังกล่าว ทำให้นักศึกษาทั้ง 15 คนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และ 9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากเห็นว่าไม่เป็นการยุติธรรม จึงพากันรวมตัวประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมประท้วงข้ามวันข้ามคืน ทั้งมีการแต่งเพลง “สู้ไม่ถอย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

 

ข้อมูลจาก จุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
รวบรวมและจัดทำโดย  กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต”
ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544

Be the first to leave a reply

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *