เส้นทาง เพลงเพื่อชีวิต…08 เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) ตอนที่2

เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) ตอนที่2

สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ ถือกำเนิดบทบาทของการเป็นศิลปินเพื่อชีวิตขึ้นมาในเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในการประท้วง คอยแต่งบทกลอนต่างๆ ส่งให้โฆษกบนเวทีอ่านให้ประชาชนฟัง เพื่อปลุกเร้ากำลังใจและรวบรวมความคิดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเขาได้แต่งเพลง ” สานแสงทอง ” โดยเอาทำนองมาจากเพลง FIND THE COST OF FREEDOM ของวงดนตรี ครอสบี สติล แนช แอนด์ ยังก์ เนื้อร้องมีอยู่ว่า

“ ขอผองเราจงมาร่วมกัน ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่

สานแสงทองของความเป็นไทย ด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ”

เพลงสานแสงทอง โดย คาราวาน

บทเพลง ” สู้ไม่ถอย ” และ “สานแสงทอง” เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยบทเพลงสู้ไม่ถอยนั้นเป็นเพลงมาร์ชปลุกใจที่ใช้ในการรวมพลังประท้วง ส่วนเพลงสานแสงทองเกิดจากความคิดคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชน แต่ทั้งนี้นี่คือจุดกำเนิดของบทเพลงเพื่อชีวิต นั่นเอง

การประท้วงครั้งนั้นประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถลดอุณหภูมิความไม่พึงพอใจในการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารได้ เนื่องจากสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ เต็มไปด้วยปัญหานานาประการทั้งทางเศรษฐกิจ ปัญหาชาวนา กรรมกรรถไฟ แหล่งเสื่อมโทรม และการคอรัปชั่น

หลังการประท้วงครั้งนั้นไม่นาน ได้มีนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกว่า “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ทำการแจกใบปลิวและหนังสือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สุดพวกเขาทั้ง 15 คน ถูกจับกุมในข้อหาว่าเป็นกบฏและมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต

จุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ นำไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยซึ่งไม่มีใครคิดมาก่อน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จับมือผนึกกำลังกันเคลื่อนไหว โดยใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางการชุมนุมได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายซึ่งมองเห็นว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุ กระทั่งในที่สุด ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดภายในเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม 2516 แต่รัฐบาลบอกปัดปฏิเสธ

ดังนั้น คลื่นนักศึกษาประชาชนนับแสนๆ จึงเคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานพระบรมรูปทรงม้า และแล้วความผิดพลาดก็เกิดขึ้นเมื่อการสื่อสารระหว่างตัวแทนนักศึกษาที่เข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาลขาดการติดต่อกับตัวแทนที่ทำหน้าที่กุมสถานการณ์มวลชน การชุมนุมประท้วงจึงดำเนินต่อไปจนล่วงเข้าสู่วันใหม่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวนักศึกษาปัญญาชนที่ถูกควบคุมตัวแล้วก็ตาม

แล้วที่สุดก็เกิดการปะทะต่อสู้กันระหว่างตำรวจทหารกับประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เจ้าหน้าที่ยิงก๊าซน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วง สถานการณ์ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสงครามกลางเมือง สถานที่ราชการหลายแห่งถูกประชาชนเผาทำลาย ชีวิตเลือดเนื้อจำนวนมากถูกเข่นฆ่า นับเป็นความเสียหายร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะเหตุว่าคนไทยทำต่อคนไทยด้วยกันเอง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยุติลง เมื่อผู้เผด็จการทั้งสามหนีออกนอกประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

รัฐบาลภายใต้การนำของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรัฐบาลพลเรือนที่สนับสนุนบทบาทของนักศึกษาในเรื่องประชาธิปไตย โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกผู้คนอย่างเต็มที่ กระทั่งทำให้เกิดมีความโน้มเอียงไปในทางที่นักศึกษาสนับสนุนลัทธิสังคมนิยมกันอย่างแพร่หลาย อาทิ มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชี้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ประชาชนในเวลานั้นยังไม่ยอมรับ มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ลัทธิของมาร์กซ-เลนิน นำเสนอประเด็น ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ฯลฯ ได้รับการ เปิดเผยสู่สายตาของนักศึกษาและประชาชนอย่างกว้างขวาง

เรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำความคิดทางการเมืองหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามในอดีต เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ได้รับการกล่าวขานถึง แตกหน่อเป็นความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่กำลังแสวงหาแนวทางเพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่าชีวิตในสังคมเก่า แนวคิดต่างๆ ที่กล่าวมา ได้ถูกเผยแพร่ออกมาคล้ายกับเพลงเพื่อชีวิตที่ประท้วงสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา 

ข้อมูลจาก จุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
รวบรวมและจัดทำโดย  กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต”
ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544

Be the first to leave a reply

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *