เส้นทาง เพลงเพื่อชีวิต…09 เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) ตอนที่3

เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) ตอนที่3

วงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่คนรุ่นนั้นเป็นอย่างมาก คือวงดนตรี “คาราวาน” ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีต

สุรชัย จันทิมาธร นักเขียนหนุ่มผู้มีนามปากกาว่า “ท.เสน” กับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี เจ้าของนามปากกาว่า “สัญจร” ทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมกิจกรรมการประท้วงมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรี “ท.เสนและสัญจร” เพื่อร่วมแสดงดนตรีในการชุมนุมประท้วง ครั้งหนึ่ง คนทั้งสองร่วมกันแสดงดนตรีในงานนิทรรศการเพลงเพื่อชีวิต โดยเล่นเพลง ” คนกับควาย ” , ” เปิบข้าว ” และ ” ข้าวคอยฝน “ ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ทางดนตรีต่างจากดนตรีทั่วไปในขณะนั้น ที่มีเพียงวงดนตรีสุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง และ สวลี ผกาพันธ์ ครองใจผู้ใหญ่ และวงดนตรี ดิ อิมพอสซิเบิล ครองใจวัยรุ่น

บทเพลงของ “ท.เสนและสัญจร” ในเวลานั้นเป็นการนำพื้นฐานดนตรีตะวันตกมาประยุกต์เข้ากับเนื้อร้องภาษาไทย ได้รับการต้อนรับจากนักศึกษาปัญญาชนอย่างอบอุ่น เนื้อหาเพลงบรรยายภาพความทุกข์ยากของชาวไร่ชาวนาอย่างลึกซึ้งเกาะกินใจ เช่น ท่อนหนึ่งของเพลง “ข้าวคอยฝน” ที่ว่า

“ิ อยู่อย่างข้าวคอยฝน บ่พ้นราแรงแห้งตาย
ชีวิตชีวาน่าหน่าย จะหมายสิ่งหมายไม่มี
จากบ้านเกิดเมืองนอน พเนจรลูกเล็กเด็กแดง
สองขาของเฮามีแฮง ตะวันสีแดงส่องทาง ”

เพลงข้าวคอยฝน โดย คาราวาน

ในการแสดงดนตรีทุกครั้งของ ท.เสนและสัญจร จะมีการบันทึกแถบเสียงเพื่อไว้ใช้เผยแพร่ในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พวกเขาได้เดินทางแสดงดนตรีไปกับโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ก็ยิ่งทำให้บทเพลงของเขาเป็นที่เผยแพร่และนิยมกันแพร่หลายกว้างขวางออกไป โดยเฉพาะที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพวกเขาได้มีโอกาสเปิดการแสดงบ่อยครั้ง

ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง ท.เสนและสัญจร ได้มีโอกาสรู้จักกับวงดนตรี บังคลาเทศแบนด์ ที่มี ทองกราน ทานา และมงคล อุทก เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ ทั้งสองวงเล่นดนตรีในงานเดียวกันหลายครั้ง จนกระทั่งสนิทสนมคุ้นเคยกัน

กลางปี พ.ศ.2517 กลุ่มผู้หญิงและชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดนิทรรศการ “ การต่อสู้ทางวรรณกรรม ” ทั้งสองวงดนตรีได้ร่วมกันแสดงเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อวงดนตรี “ คาราวาน ” ซึ่งหมายถึงการเดินทางไม่สิ้นสุด คาราวานในตอนเริ่มต้นมีสมาชิก 4 คน คือ สุรชัย จันทิมาธร, วีระศักดิ์ สุนทรศรี, มงคล อุทก และทองกราน ทานา

วงดนตรีคาราวานเป็นจุดเริ่มต้นการขยายตัวของดนตรีเพื่อชีวิต พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงมากมาย โดยการเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษา ความโด่งดัง และความสามารถในเชิงดนตรีของพวกเขาส่งผลให้บทเพลงเพื่อชีวิตสามารถเปิดการแสดงร่วมกับวงดนตรีในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานแผ่นเสียงแถบบันทึกเสียง หรือเปิดการแสดงตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งก็ทำรายได้ให้แก่พวกเขาตามสมควร

ผลงานชุดแรกของคาราวานชื่อ “ คนกับควาย ” มีเนื้อหาสาระสะท้อนความทุกข์ยากของชาวนา และชุดที่สองชื่อ “ อเมริกันอันตราย ” เป็นบทเพลงต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกา

เพลงคนกับควาย โดย คาราวาน

ปี พ.ศ.2517-2519 เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมสูงสุดในแวดวงนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน วงดนตรีเพื่อชีวิตหลายวงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่ละวงมีลีลาการแสดงออกที่แตกต่างกัน พวกแรกเป็นพวกที่มีท่วงทำนองลีลาผสมผสานตะวันออกกับตะวันตก ใช้เครื่องดนตรีอคูสติค เช่น กีตาร์ ไวโอลิน ซึง ฮาโมนิก้า และเครื่องดนตรีเคาะจังหวะ ได้แก่ คาราวาน, คุรุชน, กงล้อ, รวมฆ้อน, โคมฉาย ส่วนอีกพวกหนึ่งจะใช้เครื่อง ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์บรรเลง เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความคึกคัก เช่น กรรมาชน, รุ่งอรุณ และไดอะเล็คติค และอีกพวกหนึ่งจะมีท่วงทำนองเพลงไทยเดิมและพื้นบ้านประยุกต์ ได้แก่ ต้นกล้า และลูกทุ่งสัจธรรม ฯลฯ

เพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นมีมากกว่า 200 เพลง เนื้อหาทั้งหมดครอบคลุมกิจกรรมที่พวกนักศึกษาปัญญาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยสรุปบทเรียนจากสถานการณ์บ้านเมือง และอิงเนื้อเรื่องและบทกวีจากนักคิดนักเขียนรุ่นเก่าๆ เนื้อหาทั้งหมดคาบเกี่ยวระหว่างการสะท้อนปัญหาบ้านเมืองกับการแสดงออกซึ่งอุดมคติในการสร้างสรรค์สังคมใหม่ โค่นล้มอำนาจรัฐ ชี้นำอุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งนักศึกษายุคนั้นเชื่อว่าสามารถแก้ไขความเสื่อมทรามของสังคมได้ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การครอบงำของจักรวรรดินิยมอเมริกา

มีบทเพลงหนึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ชื่อเพลง  ” นกสีเหลือง ” เป็นที่นิยมร้องกันแพร่หลาย เนื้อหาสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี…

“เจ้าเหินไปสู่ห้าวหาว เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
อาบปีกด้วยแสงตะวัน เจ้าฝันถึงโลกสีใด
คุณจำได้ไหม เหตุการณ์เมื่อวันที่สิบสี่สิบห้าตุลาคม
คุณจำได้ไหม รอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้คน
วีรชนคนหนุ่มสาวของเรา
ได้ตายไปท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตา
ตายไปขณะชูสองมืออันว่างเปล่าเพื่อเรียกร้องหาเสรีภาพ
ณ บัดนี้ขอให้พวกเราจงพากันหยุดนิ่ง
และส่งใจระลึกถึงไปยังพวกเขาเหล่านั้น
อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ
และจะได้เป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่จะอยู่ต่อสู้อีกต่อไป…”

(บทเพลง “นกสีเหลือง” แต่งโดย วินัย อุกฤษณ์ ร้องและบรรเลงโดย คาราวาน)


เพลงนกสีเหลือง คำร้อง วินัย อุกฤษณ์ ขับร้อง คาราวาน


ระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย สับสน และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างความคิดลัทธิความเชื่อ ประเทศไทยเปลี่ยนคณะรัฐบาลหลายครั้งในชั่วเวลาเพียงสามปี นักศึกษาถูกทำให้มองว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวายให้แก่สังคม ขณะที่พวกฝ่ายขวาก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อสกัดกั้นและต่อต้านนักศึกษาในทุกวิถีทาง

การเผชิญหน้าระหว่างคนทั้งสองกลุ่มคือ “ฝ่ายซ้าย” และ “ฝ่ายขวา” เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ฝ่ายขวาจัดก็คือ ฝ่ายราชการ ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล และกระทิงแดง ที่พยายามกดดันการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายให้เป็นไปอย่างยากลำบาก และในที่สุดจุดแตกหักก็มาถึง เมื่อนักศึกษารวมตัวกันต่อต้านการกลับมาเมืองไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นิสิต นักศึกษา ประชาชน ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง เป็นเหตุการณ์เศร้าสลดเมื่อคนไทยเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนั้นวงดนตรีคาราวานกำลังเปิดการแสดงร่วมกับผู้ชุมนุมประท้วงในจังหวัดขอนแก่น เมื่อได้ทราบข่าวก็หยุดการแสดง หลบหนีการล่าสังหารไปพร้อมกับเพื่อนนักดนตรีจากวงโคมฉาย รวม 11 คน เดินทางมุ่งสู่ป่าเขา

ข้อมูลจาก จุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
รวบรวมและจัดทำโดย  กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต”
ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544

Be the first to leave a reply

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *